วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

องค์ประกอบของดินปลูกอ้อย



สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการผลิตอ้อย
อ้อย : ความหนาแน่นของอ้อย
ดินความอุดมสมบูรณ์ของดิน
องค์ประกอบของดิน
  • ดินเหนียว
  • ดินตะกอน
  • ดินทราย
โครงสร้างของดิน
  • ชุดดิน
  • รูพรุน
  • ก้อน
  • การซาบซึมน้ำ
ความชื้นในดิน
  • Hygroscopic H20
  • Capillary H20
  • Gravitational H20
จุลินทรีย์ดิน
โรคอ้อยที่สำคัญใบขาวเหี่ยว, เหี่ยวเน่าแดงแส้ดำ
แมลงที่สำคัญหนอนเจาะลำต้นและยอด
หนอนด้วงใต้ดินปลวก
ภูมิอากาศแสง
อุณหภูมิ
ความชื้นสัมพัทธ์
ฝน
ก๊าซ
การจัดการปรับปรุงดิน
พันธุ์เหมาะสมกับท้องถิ่น
เตรียมดินดี
เตรียมพันธุ์ดี
ปลอดวัชพืช
ปลอดโรค แมลง
ปลูกอ้อยงอก 100%
เก็บเกี่ยวอ้อยสด - ส่งโรงงานภายใน 48 ชั่วโมง
หลังตัดเสร็จบำรุงตอทันที
ใส่ปุ๋ยอย่างเพียงพอ - ตรงตามความต้องการ
สภาพพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆราบเรียบลุ่ม ดอน
การปรับปรุงดิน ให้เหมาะสมกับการปลูกอ้อย
ขจัดสิ่งกีดขวางตอไม้ (เผา)
ตอไม้ (ขุด)จอมปลวก (ทำลาย)
ปรับความเป็นกรดด่าง(pH)ปูนขาว
ปูนมาลโดโลไมท์
ปรับดินให้ราบเรียบ
ป้องกันการชะล้างไถ, ปลูกขวางความลาดเทปลูกหญ้าแฝก
รักษาความอุดมสมบูรณ์ใส่ถูกวิธีชนิดปุ๋ยและอัตราที่เหมาะสม
เพิ่มอินทรียวัตถุ
ปุ๋ยพืชสด
  • พืชตระกูลหญ้า
    • รูซี่คองโก
    • สตาร์
  • พืชตระกูลถั่ว
    • ถั่วพร้า
    • โสน
    • มะแฮะ
    • ปอเทือง
    • ไมยราบไร้หนาม
    ระบบบริหารจัดการไร่อ้อย
    ปัจจัยการผลิตคน
    ที่ดิน
    เงิน
    พันธุ์อ้อย
    ปุ๋ย
    สารเคมีควบคุมและกำจัดศัตรูอ้อย
    เครื่องมือเครื่องจักร
    ขบวนการบริหารจัดการการปรับปรุงดิน
    เตรียมดินดี
    พันธุ์อ้อยเหมาะสม
    ปลูกอ้อยข้ามแล้งปราศจาก
    วัชพืช
    ปราศจากโรคแมลง
    ปลูกอ้อยงอก 100% มีจำนวน ลำ/ไร่ มากกว่า 10,000 ลำ 
    ธาตุอาหารสมดุลและใส่ตรงความต้องการ
    ความชื้นพอเพียง
    เก็บเกี่ยวอ้อยสดและส่งถึงโรงงานภายใน 72 ชั่วโมง
    ผลผลิตปริมาณฝน 800 มม./ปี ผลผลิต 12.8 ตัน/ไร่
    ปริมาณฝน 900 มม./ปี ผลผลิต 13.8 ตัน/ไร่
    ปริมาณฝน 1,000 มม./ปี ผลผลิต 16.0 ตัน/ไร่
    ปริมาณฝน 1,100 มม./ปี ผลผลิต 17.6 ตัน/ไร่

    ปริมาณฝน 1,200 มม./ปี ผลผลิต 20 ตัน/ไร่
    ผลลัพธ์ไว้ตอได้ 3-5 ปี

    การปลูกอ้อย


    การปลูกอ้อยประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆที่สำคัญ ดังนี้
    1. การเตรียมดิน และการปลูกอ้อย
      การเตรียมดิน
      เป็นการกำจัดวัชพืชในขั้นต้น ซึ่งช่วยให้น้ำฝนไหลซึมผ่านลงไปในดินได้ดี ทำให้รากอ้อยเจริญเติบโตลงในดินได้ง่าย ในพื้นที่ที่ปลูกอ้อยมาเป็นเวลานาน มักจะเกิดดินดาน จึงควรไถดินดานเพื่อทำลายชั้นดินดาน ก่อนที่จะทำการไถดะไถแปรเมื่อเตรียมดินแล้ว จึงทำการยกร่องเพื่อปลูกอ้อย
      • การเตรียมดินในพื้นที่ทั่วไป จะไถ 2-3 ครั้ง ลึกประมาณ 30-50 ซม.
      • การเตรียมดินในพื้นที่ปลูกอ้อยมาก่อน มักจะเกิดชั้นดินดาน เนื่องจากมีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร หรือรถบรรทุกเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่ จึงเกิดการบดอัดในดินชั้นล่าง จึงเกิดชั้นดินดานทำให้เป็นปัญหา การไหลซึมของน้ำสู่ดินชั้นล่างไม่ดี รากอ้อยไม่สามารถเจริญลึกลงไปในดินชั้นล่างได้เท่าที่ควร
      การปลูกอ้อย
      ในการปลูกอ้อยมี 2 ขั้นตอน คือ
      1. การเตรียมท่อนพันธุ์อ้อย
        • การจัดหาพันธุ์อ้อย เป็นอ้อยปลูกเพื่อทำพันธุ์โดยตรง อายุ 7-10 เดือน ไม่แก่ หรืออ่อน จนเกินไป มีลำต้นสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง เป็นพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริม
        • การแช่หรือชุบท่อนพันธุ์ จะช่วยควบคุมเชื้อโรคได้ระยะเวลาหนึ่ง
          • แช่หรือชุบท่อนพันธุ์อ้อยด้วยสารเคมี
          • แช่หรือชุบท่อนพันธุ์อ้อยในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
      2. การปลูกอ้อย
        วิธีการปลูกอ้อย มี 2 วิธีการใหญ่
        • การปลูกด้วยแรงงานคน แยกออกเป็น 2 วิธี
          • การปลูกอ้อยเป็นท่อน ข้อดี คัดเลือกตาที่สมบูรณ์
            ข้อเสีย สิ้นเปลืองเวลา เสียค่าแรงงานสูง
          • การปลูกอ้อยทั้งลำ ข้อดี ประหยัดแรงงาน เวลา เสียค่าใช้จ่ายต่ำ
            ข้อเสีย ความงอกของอ้อยไม่สม่ำเสมอ บางครั้งอาจมีโรคที่ติดมากับพันธุ์อ้อย เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบ
        • การปลูกด้วยเครื่องจักร นิยมใช้ในกรณีที่ชาวไร่อ้อยมีพื้นที่ปลูกอ้อยมาก และมีเงินลงทุน การใช้เครื่องจักรสามารถยกร่องแล้วปลูกได้ และไม่จำเป็นยกร่องไว้ก่อน
        เทคนิคในการปลูกอ้อยเพื่อให้อ้อยงอก
        • กรณีของฝนตกน้ำขัง หรือดินมีการระบายน้ำไม่ได้
          ถ้าปลูกอ้อยแล้วกลบอ้อยลึกเกินไป ทำให้ท่อนอ้อยหรือลำอ้อยเน่าเสียหายก่อนที่อ้อยจะงอก ทำให้ต้องปลูกซ่อมอ้อยใหม่
          ทางแก้ไขในกรณีนี้ก็คือ ถ้าดินแฉะน้ำขังมากและจำเป็นจะต้องปลูก ใช้วิธีปักพันธุ์อ้อยหรือเสียบพันธุ์อ้อยทำมุมประมาณ 45 องศา เมื่ออ้อยงอกและดินแห้งแล้วจึงมากลบอีกครั้งหนึ่ง
        • กรณีที่ฝนตกแล้ว ดินแฉะ
          ยังไม่ได้ปลูกหรือกลบอ้อย ให้วางพันธุ์อ้อยไว้ในร่อง แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ไหลไปกับน้ำเมื่อมีฝนตกซ้ำลงมาอีกครั้งหนึ่ง หรือถ้าดินเปียก อุ้มน้ำมาก อาจจะใช้วิธีวางท่อนอ้อยแล้วกลบดินบางๆ ก็ได้ ก็จะช่วยให้อ้อยงอกโดยไม่เน่าได้ ซึ่งเป็นเพียงคำแนะนำในทางปฏิบัติ
        • กรณีที่ขณะปลูกอ้อยไม่มีฝนหรือปลูกไปแล้วจะไม่มีน้ำหรือฝนทิ้งช่วง
          จำเป็นจะต้องรักษาพันธุ์อ้อยที่ปลูกไปแล้ว ข้อแนะนำคือ พยายามใช้ดินกลบอ้อยให้หนา เหยียบหรือกดให้แน่น เพื่อรักษาความชื้นในดิน เช่นเดียวกับการปลูกอ้อยข้ามแล้ง ในกรณีนี้ ไม่ควรลอกกาบอ้อยออก ปล่อยให้หุ้มตาไว้ จนกว่าจะมีความชื้นมากพอที่จะงอกได้ เป็นต้น ี เรื่องความงอกของอ้อยอาจจะไม่สม่ำเสมอ หรืองอกเพียงร้อยละ 60-70 และอาจจะต้องปลูกซ่อมอ้อยหลังการงอก
        หลังจากที่ปลูกอ้อยแล้ว 15-30 วัน หน่ออ้อยจะงอกโผล่พ้นดิน เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับ
        • สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอุณหภูมิ และความชื้นในดิน เช่น ถ้าอุณหภูมิค่อนข้างสูงอ้อยจะงอกเร็วกว่าสภาพที่อุณหภูมิต่ำ เป็นต้น
        • พันธุ์อ้อย เช่น เค 76-4 งอกเร็วกว่า เค 84- 200 เป็นต้น
        • คุณภาพของพันธุ์อ้อย พันธุ์อ้อยที่ได้รับการดูแลดีกว่า จะมีอัตราการงอก และการเจริญเติบโตดีกว่า แม้ว่าจะเป็นพันธุ์อ้อยเดียวกันก็ตาม
      3. การดูแลรักษาอ้อย
        การควบคุมและกำจัดวัชพืช
        วัชพืชเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตของอ้อยลดลงเนื่องจากวัชพืชจะแย่งธาตุอาหาร ความชื้นในดิน และแสงแดด เป็นแหล่งสะสมหรือเป็นที่อาศัยของโรคและแมลงที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้วัชพืชขึ้นแข่งขันกับอ้อยในแปลงปลูกนาน เพราะในระยะที่หน่ออ้อยเพิ่งเริ่มงอก หากมีวัชพืชมาก อ้อยจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่เพราะถูกแย่งน้ำและอาหารหลังจากนั้นการแตกกอจะมีน้อย และยังอาจมีผลทำให้การย่างปล้อง (คือส่วนของ intercalary meristem หรือ growth ring มีการยืดตัว) ไม่เต็มที่ เป็นต้น ทำให้ผลผลิตลดลงในที่สุด
        การให้น้ำ
        ให้น้ำอ้อยควรคำนึงถึงระยะการเจริญเติบโต แบ่งเป็น 4 ระยะดังนี้
        • ระยะงอก (0-1 เดือน) หลังจากการปลูก อ้อยต้องการความชื้นที่เหมาะสม
        • ระยะหลังจากงอก (1-2 เดือน)อ้อยต้องการน้ำมาก ควรให้น้ำทุกๆ 10-14 วัน
        • ระยะแตกกอจนถึงระยะย่างปล้อง (อายุประมาณ 2-6 เดือน) อ้อยต้องการน้ำมาก อ้อยมีระบบรากสมบูรณ์สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารที่อยู่ไกลจากโคน
        • ระยะก่อนเก็บเกี่ยว (อายุ 9-10 เดือนขึ้นไป) อ้อยต้องการน้ำน้อย เริ่มมีการสะสมน้ำตาล ควรงดให้น้ำแก่อ้อย 1-1.5 เดือน ก่อนเก็บเกี่ยว
        วิธีการให้น้ำแก่อ้อย มี 3 แบบ คือ
        • การให้น้ำตามร่อง (furrow irrigation) ความลาดเท 0.5-3
        • การให้น้ำแบบฝอยหรือฝนเทียม (sprinkler irrigation)
        • การให้น้ำแบบหยด (drip irrigation)
        การพูนโคน
        การพูนโคนควรทำหลังจากที่อ้อยมีการแตกกอแล้ว เพื่อทำให้กออ้อยแข็งแรงไม่ล้มง่าย เนื่องจากทำให้โคนอ้อยมีการเกิดรากและการเจริญเติบโตของรากดีขึ้น
      4. การบำรุงดินและการใส่ปุ๋ย
        การบำรุงดิน
        การเพิ่มผลผลิตอ้อยมีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ดินในเขตร้อนชื้นมักจะเกิดการชะล้างสูง การใช้ปุ๋ยติดต่อกันเป็นระยะยาวนาน อาจทำให้ดินเปลี่ยนเป็นดินกรด สภาพทางกายภาพของดินเลวที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเกิดการใช้รถบรรทุกหรือเครื่องมือทุ่นแรงขนาดใหญ่ลงไปเหยียบย่ำ การให้น้ำชลประทานมากเกินไป จะมีผลกระทบต่อสัดส่วน ของน้ำ และอากาศในดิน และทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเลวลง ผลผลิตของอ้อยจะลดลง
        วิธีการบำรุงดิน
        • การบำรุงดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ
          ใช้ไถดินดาน ไถทำลายชั้นดินดาน โดยไถลึกประมาณ 50-75 เซนติเมตร ในการเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อย ไม่ควรไถให้ดินละเอียดเกินไป เพราะจะเกิดดินดานได้ง่าย ควรมีการปลูกพืชคลุมดิน พืชแซม หรือพืชหมุนเวียน โดยใช้พืชตระกูลถั่ว ไม่ควรเผาใบอ้อยก่อน หรือหลังการเก็บเกี่ยว
        • การบำรุงดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมี
          การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
          • ใช้ระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชแซม พืชคลุมดิน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน
          • ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และกากหม้อกรอง (filter cake)
          • การใส่ปุ๋ยเคมี วิธีนี้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติ
        การใส่ปุ๋ยอ้อย
        • ความต้องการธาตุอาหารของอ้อย
          ธาตุอาหารหลักคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นธาตุอาหารที่ทำให้อ้อยให้ผลผลิตสูง ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) ซัลเฟอร์ (S) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) คอปเปอร์ (Cu) โมลิบดีนัม (Mo) และซิลิคอน (Si) มีความสำคัญในการช่วยการเจริญเติบโตของอ้อย (สำหรับ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) มีปริมาณพอ ในน้ำ ดินและอากาศ)
        • ความสำคัญของธาตุอาหาร
          ไนโตรเจน (N) พืชต้องการธาตุไนโตรเจนปริมาณมาก เพราะเป็นธาตุอาหารที่สำคัญในการเจริญเติบโตด้านลำต้นและใบ ทำให้การแตกกอของอ้อยดี มีจำนวนลำต่อกอสูง การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ต้องคำนึงถึงอัตรา ชนิด เวลาใส่และวิธีใส่ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด รูปของปุ๋ยไนโตรเจนที่นิยมใช้ในการปลูกอ้อยคือ
          • ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เมื่อหว่านลงไปในดิน จะไม่สูญเสียไนโตรเจนง่ายเหมือนปุ๋ยยูเรีย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจเกิดการระเหิด (การสูญเสียจากดินในรูปของก๊าซ: volatilization) ของแอมโมเนียมสูง หรือในดินที่ขาดกำมะถัน
          • ปุ๋ยยูเรีย ดีกว่าปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต คือมีเนื้อธาตุไนโตรเจนสูง จึงควรใส่ในอัตราที่น้อยกว่า
          ผลตกค้างของปุ๋ยไนโตรเจนในดินหลังฤดูเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟต คือก่อให้เกิดความเป็นกรดในดิน แต่ผลตกค้างของปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตก่อให้เกิดความเป็นกรดสูงกว่าสูงกว่าปุ๋ยยูเรียสองเท่า
          ฟอสฟอรัส (P) อ้อยใช้ฟอสฟอรัสประมาณ 3 -11 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ต่อปี ดังนั้นการแนะนำ อัตราปุ๋ยจึงแตกต่างกันออกไป ชนิดของปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ใช้ในเขตร้อน ได้แก่ โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต หรือทริปเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต แต่ต้องใส่ครั้งละไม่มากนักเพื่อลดการตรึงฟอสเฟตของดิน หรือใช้ปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลาย ช้า เช่น หินฟอสเฟต (rock phosphate) ฟอสฟอรัสมีผลมากมายต่อการเจริญเติบโต ของรากและหน่อ
          โพแทสเซียม (K) อ้อยเป็นพืชที่ต้องการธาตุโพแทสเซียม ในปริมาณมากกว่าธาตุอาหารชนิดอื่นใดทั้งหมด หน้าที่ของธาตุโพแทสเซียม เช่นช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างโปรตีน การเคลื่อนย้ายโปรตีน และน้ำตาลต่าง ๆ ช่วยในการเคลื่อนที่ของน้ำ เข้าสู้ต้นพืช ช่วยให้รากเจริญเป็นปกติ เป็นต้น ธาตุโพแทสเซียมที่มีบทบาท ต่อการเปิดปิดของปากใบพืช แสดงให้เห็นว่าธาตุโพแทสเซียมมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพืช
          เมื่ออายุ 3-7 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่อ้อยเจริญเติบโตเร็วมาก อัตราการดูดซึมโพแทสเซียมจะเร็วมากขึ้น มีผลต่อผลผลิตและความหวานของอ้อยพร้อมกัน
      5. การบำรุงรักษาอ้อยตอ
        ผลกำไรส่วนใหญ่จะได้จากอ้อยตอ เนื่องจากชาวไร่อ้อยไม่ต้องลงทุนด้านการเตรียมดิน พันธุ์อ้อย (ค่าตัดค่าบรรทุก) ค่าปลูก การบำรุงรักษาอ้อยตอ เพื่อให้ได้ผลผลิตดีควรมีการปฏิบัติดังนี้
        • การแต่งตอ ชาวไร่อ้อยรายย่อยนิยมแต่งตออ้อย โดยการใช้จอบคม ๆ ปาดตออ้อยตรงระดับดินหรือใต้ลงไปเล็กน้อย ทำให้ได้หน่อใหม่เจริญจากตาแทงขึ้นมาจากใต้ดินพร้อมกันหลายหน่อมีความแข็งแรงมากกว่าหน่อที่เกิดเหนือดิน
        • การให้น้ำหรือการรักษาความชื้น เป็นปัจจัยที่มีผลผลิตอ้อยตอมากที่สุด การปลูกอ้อยในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 80 ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน
        • การใส่ปุ๋ย สำหรับอ้อยตอควรใส่ปุ๋ยในอัตราเพิ่มขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอัตราเดิม ดินที่ปลูกอาจมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง สูตรปุ๋ยผสมต่าง ๆ ที่แนะนำสำหรับอ้อย ได้แก่ 21-0-0, 46-0-0, 15-15-15, 16-20-20, 25-7-7, 16-11-14 เป็นต้น
        • การดูแลรักษาทั่วไป ที่สำคัญได้แก่ การควบคุมวัชพืช และการพรวนดินพูนโคน ในแปลงอ้อยที่มีการเผาใบอ้อย จะมีวัชพืชงอกขึ้นเร็วกว่าแปลงอ้อยที่ไม่ได้เผา เนื่องจากจะมีความชื้นจากใต้ดินผ่านขึ้นมาช่วยในการงอกของเมล็ดวัชพืช


      หนอนกออ้อยพบใหม่ที่จังหวัดนครสวรรค์

      หนอนกออ้อยพบใหม่ที่จังหวัดนครสวรรค์

      1. พบหนอนกออ้อยที่เป็น New Record ในประเทศไทยชื่อ Chilo sacchariphagus stramineelus (Caradja) ซึ่งจำแนกชื่อ โดย ดร.องุ่น ลิ่ววานิช
        • พบไข่ผีเสื้อหนอนกอสีขาว 67.86%
        • พบไข่ผีเสื้อหนอนกอลายจุดเล็ก 8.93%
        • พบไข่ผีเสื้อหนอนชนิดใหม่ 23.21%
      2. พฤติกรรมของหนอน 
        หลังจากฟักออกมาใหม่ๆ จะเดินไปที่ขอบใบทิ้งสายใยลงมา ถ้าลมไม่มีก็จะชักใยกลับและเดินเข้าไปที่ยอดแทะผิวใบที่ยอดเป็นขุยเห็นชัดเจนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 10-30 ตัว และกินอยู่บนยอดอ้อย อ้อยจะยอดแห้งตาย ในที่สุดก็แห้งตายทั้งต้น
        พฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมผสมระหว่างหนอนกออ้อย 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดใหญ่ Chilo tumidicostalis (Hampson) หนอนกอลายจุดเล็ก Chilo infuscatellus Snellen หนอนกอสีขาว Scirpophaga excerptalis (Walker)
        พืชอาหาร และพืชอาศัย 
        อ้อยและพงหญ้า
        ความเสียหาย
        จากการเข้าทำลายอ้อยที่จังหวัดนครสวรรค์พบประมาณ 3% ของพื้นที่การระบาด อยู่คละกันกับหนอนกอสีขาว หนอนกอลายจุดเล็ก เปอร์เซ็นต์การทำลายอยู่ระหว่าง 2-3%
        การแพร่กระจาย
        ในเดือนมีนาคม 2546
        ไข่ผีเสื้อลายจุดเล็ก 1 กลุ่ม เฉลี่ย 24 ฟอง
        ไข่ผีเสื้อลายชนิดใหม่ 1 กลุ่ม เฉลี่ย 16 ฟอง
        จำนวนไข่ผีเสื้อลายจุดเล็กมากกว่าไข่ผีเสื้อ หนอนชนิดใหม่ 33.33%
        แหล่งกำเนิด
        พบที่จีนและญี่ปุ่น
        ศัตรูธรรมชาติ
        เหมือนกับหนอนกอชนิดอื่นแต่ก็จะต้องศึกษาอีกครั้งหนึ่ง
        แนวโน้มการระบาด
        สังเกตได้ว่าหนอนตัวใหม่นี้กำลังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ถ้ามีความชื้นพอเหมาะจะพบการเข้าทำลายมาก ถ้าอากาศแห้งแล้งจะพบน้อย แต่จะต้องเข้าศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
        ข้อสังเกต ที่ จ. นครสวรรค์ พบที่ อ.ตากฟ้า ต.อุดม ธัญญา หนองพิกุล อ.พยุหคีรี ต.นิคมเขาบ่อแก้ว และ ต.เขากะลา ส่วนในเขตอื่นยังไม่พบการระบาด และพืชอาหารและพืชอาศัยที่สำคัญคือ พง
      3. แตนเบียนไข่ที่เป็น New Record ใน ประเทศไทย จำแนกชื่อ โดย คุณสุทธิสันต์ พิมพะสาลีชื่อ Telenomus dignus Gahan ที่พบในจังหวัดนครสวรรค์โดยเข้าไปทำลายไข่ของหนอนกอสีขาว มีเปอร์เซ็นต์การทำลายอยู่ระหว่าง 3-4% เป็นแตนเบียนไข่ชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานว่ามีที่ไหนบ้าง

      โดย ดร.ณัฐกฤต พิทักษ์
      สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร

      พันธุ์อ้อย กับ อ้อยพันธุ์ ต่างกันอย่างไร

      พันธุ์อ้อย กับ อ้อยพันธุ์ ต่างกันอย่างไร ?
      พันธุ์อ้อย : หมายถึงพันธุ์ที่ผ่านการทดสอบ และรับรองพันธุ์จากหน่วยงานต่าง ๆ
      อ้อยพันธุ์ : หมายถึงปลูกอ้อยเพื่อใช้ในการขยาย หรือเป็นพันธุ์ในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่
      พันธุ์อ้อย
      พันธุ์อ้อยในปัจจุบันคาดว่ามีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันประมาณ 30 สายพันธุ์ มีแหล่งที่มา 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ
      • พันธุ์อ้อยต่างประเทศ
      • พันธุ์อ้อยในประเทศ
      หน่วยงานที่ผลิตพันธุ์อ้อยในประเทศไทย
      • สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)
      • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)
      • กรมวิชาการ (กวก.)
      การปรับปรุงพันธุ์อ้อย
      ขั้นตอนการผสมและคัดเลือกพันธุ์
      1. รวมรวมพันธุ์ทั้งในและต่างประเทศ
      2. รวมพันธุ์อ้อยสำหรับใช้ผสมพันธุ์
      3. ปีที่ 1 ผสมพันธุ์และคัดเลือกช่วงที่ 1 ดูองค์ประกอบและผลผลิต
      4. ปีที่ 2-3 คัดเลือกช่วงที่ 2 วัดค่าบริกซ์และดูองค์ประกอบของผลผลิต
      5. ปีที่ 3-4 เปรียบเทียบสายพันธุ์เบี้องต้น วัดคุณภาพผลผลิตดูลักษณะทางการเกษตร
      6. ปีที่ 4-5 เปรียบเทียบสายพันธุ์มาตรฐาน วัดคุณภาพผลผลิต โรค แมลง ดิน น้ำ ปุ๋ย
      7. ปีที่ 5-6-7 เปรียบเทียบในไร่กสิกร วัดคุณภาพผลผลิต ลักษณะอื่น ๆ
      8. ปีที่ 8 ขยายปลูกในแปลงใหญ่ และส่งเสริมพันธุ์เด่นให้เกษตรกร


      โดย ซุปเปอร์ไร่อ้อยนครสวรรค์ โทร 086-355-2228
      #จำหน่ายพันธ์ุอ้อยคุณภาพดีราคาถูก

      วัชพืชในไร่อ้อยและการบริหารจัดการ

      วัชพืชในไร่อ้อยและการบริหารจัดการ

      นายธวัช หะหมาน นักวิทยาศาสตร์ 4
      ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เขต 4
      สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

         วัชพืชเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญของการปลูกอ้อย และส่งผลให้ผลผลิตของอ้อยลดต่ำลงเป็นอันมากรวมถึงการที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการกำจัดวัชพืชไม่ทันตามเวลา โดยความเสียหายจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัชพืชและอายุอ้อยในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอ้อยปลูก สำหรับอ้อยตอนั้นปัญหาเรื่องวัชพืชนั้นน้อยลงเนื่องจากการมีใบอ้อยปกคลุมผิวดินอยู่ ทั้งนี้การที่จะปลูกอ้อยให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารเพื่อจัดการวัชพืชให้ได้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความสำเร็จของการบริหารจัดการวัชพืชนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกอ้อย ช่วงเวลาหรือฤดูกาลของการปลูกอ้อย และสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยด้วย  พบว่าควรจะมีการกำจัดวัชพืชตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กอยู่ เพราะยิ่งวัชพืชอายุมากขึ้นต้นทุนในการกำจัดก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยผลผลิตของอ้อยจะลดลง

      การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 1-4 เดือน            ผลผลิต 16.2 ตันต่อไร่
      การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 2-4 เดือน            ผลผลิต 12.1 ตันต่อไร่       -25.3%
      การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน            ผลผลิต 9.5 ตันต่อไร่        -41.1%
      การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 4 เดือน               ผลผลิต 5.7 ตันต่อไร่        -68.4%
      การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 5 เดือน               ผลผลิต 2.5 ตันต่อไร่        -84..6%
      ไม่กำจัดวัชพืช                                            ผลผลิต 1.9 ตันต่อไร่        -88.3%                                    
      (ธวัช, 2543)

         อย่างหนึ่งที่สามารถเห็นได้ก็คือ หากปล่อยให้วัชพืชรบกวนต้นอ้อยในช่วงแรกหลังการปลูก หรือระยะที่อ้อยยังเล็กอยู่จะทำความเสียหายให้ได้เป็นอย่างมาก และอ้อยก็ตองการช่วงเวลาที่ปราศจากการรบกวนของวัชพืชอย่างน้อย 12 สัปดาห์หลังปลูก

      วัชพืชที่พบได้ในไร่อ้อย

      วัชพืชใบเลี้ยงคู่


      ครอบจักรวาล                      (Abutilon graveolens)
      หญ้าสาบแร้งสาบกา             (Ageratum conyzoides)
      ฝักเป็ด                              (Alternanthera frutescens)
      ผักโขม                             (Amaranthus spinosus)
      ผักปราบ                            (Commelina diffusa)
      ปอวัชพืช                           (Corchorus aestuans)
      กะเม็ง                               (clupta alba)
      ผักยาง                              (Euphorbia geniculatum)
      น้ำนมราชสีห์                      (Euphorbia hirta)
      กระต่ายจาม                       (Scoparia dulcis)
      โทงเทง                             (Physalis minima)
      ขี้กาแดง                            (Trichosanthes integrifolia)
      ตดหมูตดหมา                     (Macfadyenia unguis-cati)
      กระทกรก                          (Passifloa foetica)
      ผักเบี้ยหิน                          (Trianthema portulacastrum)      
      โคกกระสุน                        (Trubulus cisloide)



      วัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว


      หญ้ารังนก                         (Chloris barbata)
      หญ้าปากควาย                    (Dactyloctenium aegyptium)
      หญ้าตีนนก                        (Digitaria adscendens)
      หญ้านกสีชมพู                    (Echinochloa colonum)
      หญ้าตีนกา                         (Eleusine indica)
      หญ้าตีนกาใหญ่                   (Eleusine spp.)
      หญ้าดอกขาว                     (Leptochloa chinensis)
      หญ้าขจรจบดอกเล็ก            (Pennisetum spp.)
      หญ้าขจรจบดอกใหญ่           (Pennisetum spp.)
      แห้วหมู                             (Cyperus rotundus)                           (ธวัช, 2543 และพรชัย, 2540)
                                




      ภาพที่ 1 เปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยา (Morphology) ของวัชพืชใบเลี้ยงคู่กับวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
      (ที่มา ประเสริฐ, 2546)

      ภาพที่ 2 แสดงองค์ประกอบภายในของเมล็ดวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และรูปแบบการงอกของวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
      (ที่มา ประเสริฐ, 2546)

      ภาพที่ 3  แสดงรูปแบบการงอกของวัชพืชใบเลี้ยงคู่ (ที่มา พรชัย, 2540)



      การบริหารจัดการวัชพืช

      การบริหารจัดการวัชพืชตามช่วงเวลาการปลูกอ้อย

      ·  การปลูกอ้อยในเขตชลประทาน
         เนื่องจากการปลูกอ้อยในเขตชลประทานนั้นสามารถทำได้ทั้งปี ซึ่งจะมีการดำเนินการปลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะการยึดหลักที่ว่ายิ่งอ้อยมีอายุมากขึ้น อ้อยก็จะยิ่งมีการสุกแก่เต็มที่และสามารถให้ผลผลิตน้ำตาลที่สูง โดยปกติเกษตรกรจะนิยมปลูกในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการปลูกเป็นร่องและมีการให้น้ำในร่อง ส่งผลให้มีวัชพืชเกิดขึ้นภายในร่อง โดยไม่มีวัชพืชที่บริเวณสันร่อง เพราะวัชพืชจะขึ้นบริเวณที่มีความชื้นหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมถึงเท่านั้น ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องมีการใช้สารกำจัดวัชพืชก็ควรจะฉีดพ่นแค่ในส่วนของร่องก็เป็นการเพียงพอ ซึ่งการฉีดพ่นแบบนี้จะเรียกว่าการฉีดพ่นภายในร่อง (Band or Strip application) ซึ่งหากมีการใช้คุมวัชพืชแบบก่อนงอกก็จะสามารถลดพื้นที่การฉีดพ่นลงได้ 50-70% แล้วอาจจะมีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอกอีกครั้งหนึ่งเมื่ออ้อยอายุ 2-2.5 เดือน หรืออาจจะทำการพูนโคนใส่ปุ๋ยเมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือนแล้วไม่จำเป็นต้องมีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอีก  ทั้งนี้ปริมาณวัชพืชมากหรือน้อยนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ความถี่ของการให้น้ำ ถ้าให้น้ำมากครั้งอ้อยก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี เช่นเดียวกันกับวัชพืช แต่หากมีการให้น้ำน้อยครั้งวัชพืชก็จะงอกน้อยแต่อ้อยก็จะมีการเจริญเติบโตไม่ดีด้วย

      ·  การปลูกอ้อยในเขตน้ำฝน
         เมื่อมีการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน อ้อยที่เกษตรกรปลูกนั้นควรจะมีความลึกกว่าในระบบชลประทาน ส่วนในการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชนั้นก็อาจจะมีการใช้แบบหลังงอก แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรสามารถที่จะใช้สารกำจัดวัชพืชแบบยาคุมและยาฆ่ารวมกัน เนื่องจากวัชพืชอาจจะมีการงอกขึ้นมาบ้างแล้ว และก็สามารถยับยั้งเมล็ดของวัชพืชที่ยังไม่งอกขึ้นมาได้ในขณะเดียวกัน  ทั้งนี้พบว่าวัชพืชในแปลงอ้อยที่มีการปลูกในช่วงต้นฤดูฝนนั้นจะมีปริมาณวัชพืชหนาแน่นกว่าการปลูกอ้อยในหน้าแล้ง ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนหรือความถี่ของฝนที่ตกลงมาด้วย ปกติวัชพืชจะสามารถงอกขึ้นมาได้หลังจากที่ฝนตกประมาณ 1 สัปดาห์ ในขณะที่อ้อยสามารถงอกขึ้นมาได้หลังจากที่ได้รับฝนแล้ว 2 สัปดาห์ การใช้สารกำจัดวัชพืช แบบหลังงอกเมื่ออ้อยอายุ 2-3 เดือน เพราะการปลูกในฤดูฝนนั้นอาจจะไม่สะดวกที่จะเข้าไปพูนโคน การใช้สารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอกจึงมีความสำคัญ

      ·  การปลูกอ้อยข้ามแล้ง
         เกษตรกรจะเริ่มปลูกอ้อยหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยในฤดูก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม การเตรียมดินจึงต้องมีการไถให้ลึกประมาณ 50-60 เซนติเมตร เพราะจะต้องปลูกในระดับที่ลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตรและจะต้องมีการกลบให้ลึก เพื่อให้อ้อยสามารถได้รับความชื้นที่หลงเหลืออยู่ในดินสำหรับการงอกขึ้นมา ทั้งนี้ทำให้วัชพืชไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ เพราะวัชพืชปกติจะงอกจากผิวดินประมาณ 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น อาจจะมีการใช้สารกำจัดวัชพืชแบบคุม หรือใช้แบบคุมร่วมกับแบบฆ่าก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัชพืช ทั้งนี้อาจจะมีการพูนโคนหลังจากการใส่ปุ๋ย ทำให้การฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชแค่เพียงครั้งเดียวก็มีความเพียงพอ

      การใช้แรงงานคนและสัตว์
         การใช้แรงงานคนเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด คือการใช้มือถอน การใช้จอบถากหรือพรวน การปฏิบัติด้วยวิธีการนี้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกน้อย ๆ  เงินทุนน้อย แต่ในพื้นที่ขนาดใหญ่อาจจะทำได้ช้า มักไม่มันเวลากับการเติบโตของอ้อย ส่วนการใช้แรงงานสัตว์นั้น เป็นการใช้วัวควายลากไถ เพื่อพรวนดินและกำจัดวัชพืช วิธีนี้สะดวกกว่าแรงคน และควรทำในขณะที่วัชพืชไม่โตจนเกินไป อย่างไรก็ตามการใช้แรงงานสัตว์จะมีความสะดวกฝนดินเนื้อหยาบหรือดินเนื้อทรายมากกว่าดินเหนียว ในทางปฏิบัติมักทำควบคู่ไปกับการใช้แรงงานคน โดยใช้จอบถากวัชพืชที่อยู่ใกล้บริเวณต้นอ้อย

      การใช้เครื่องจักรกล
         เป็นการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่นรถไถเดินตาม จอบหมุน ตีนเป็ด  หรือคราดสปริงการไถพรวนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการปลูกอ้อย และการกำจัดวัชพืชหลังการปลูก การไถพรวนที่มีความเหมาะสมนั้นจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดี อย่างไรก็ตามการที่จะไถพรวนให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีนั้นก็จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการปลูกด้วย โดยทั่วไปการใช้เครื่องมือมักเริ่มต้นหลังจากปลูกอ้อยแล้ว 2-3 เดือน เกษตรกรมักจะทำการพรวนระหว่างแถวอ้อยเพื่อกำจัดวัชพืช และช่วยให้การถ่ายเทอากาศในดินดีขึ้น การปลูกอ้อยในพื้นที่ชลประทาน หากมีการไถพรวนแล้วมีการให้น้ำจะทำให้วัชพืชงอกขึ้นมาอีกได้  และหากว่ามีการปลูกอ้อยในช่วงต้นของฤดูฝนก็อาจจะไม่สามารถไถพรวนได้หากมีฝนติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่สามารถนำเครื่องจักรกลไปปฏิบัติงานได้  แต่หากว่าเป็นการปลูกอ้อยแบบข้ามแล้งก็จะสามารถไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชได้  หลังจากพรวนดินครั้งแรกไปแล้ว จำเป็นต้องมีการพรวนดินครั้งที่สอง เมื่ออ้อยอายุได้ 6 เดือน การพรวนดินในขณะนี้จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอ้อยมีความสูงมากขึ้น มีโอกาสที่ยอดอ้อยจะหักในขณะที่ทำงานท้องรถแทรกเตอร์ที่เข้าทำงานจึงต้องมีความสูงขึ้นมากกว่า 120 เซนติเมตร

      1.            เครื่องทำรุ่นคัทอะเว (Cutaway) คราดสปริง (Spring tine cultivator) จอบหมุน (Rotary cultivator) และพรวนจาน (Disc harrow) ทำหน้าที่พรวนลูกหญ้า กำจัดวัชพืชและพรวนหน้าดินให้ร่วนซุยเพื่อให้ดินเก็บความชื้นได้ดีขึ้น ในกรณีที่ปลูกอ้อยแล้วฝนตกทับ การใช้คัทอะเวจะช่วยเปิดร่องให้กว้างขึ้น พรวนหน้าดินให้แตก อ้อยจะงอกตามปกติ

      ภาพที่ 3 เครื่องทำรุ่นคัทอะเว   (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

      ภาพที่ 4   คราดสปริง   (ที่มา ประเสริฐ, 2546)

      ภาพที่ 5 จานพรวน (ที่มา : พูลประเสริฐ, 2548)

      ภาพที่ 6 จานพรวน (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

      ภาพที่ 7 จอบหมุน (rotary cultivatiorเชื่อมต่อกับรถไถเดินตามเพื่อกำจัดวัชพืช (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)


      2.                        เครื่องมือพรวนดินใส่ปุ๋ยพร้อมการกำจัดวัชพืช เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หรือบำรุงตอ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ใช้ได้ทั้งในอ้อยปลูกและบำรุงตอ

      ภาพที่ 8 เครื่องมือพรวนดิน ใส่ปุ๋ย พร้อมกับการกำจัดวัชพืช   (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

      ภาพที่ 9 ผานพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช พร้อมใส่ปุ๋ยเชื่อมต่อรถไถเดินตามขนาดเล็ก (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)


      การใช้สารกำจัดวัชพืช

         ในการเลือกใช้สารเคมีเพื่อการกำจัดวัชพืชนั้นจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งประกอบด้วย
      1.            พันธุ์ ช่วงอายุและความสูงของต้นอ้อย ซึ่งจะต้องลงลึกไปในรายละเอียดว่า สารกำจัดวัชพืชชนิดไหนที่พันธุ์อ้อยสามารถทนได้ และควรใช้สารเคมีชนิดไหนในช่วงเวลาไหน เพื่อจะได้ไม่เป็นพิษต่อต้นอ้อย
      2.            อายุของวัชพืชกับสัดส่วนของยาและความคุ้มทุน ในบางครั้งจำเป็นต้องพิจารณาว่าช่วงอายุไหนของวัชพืชมีความจำเป็นต้องกำจัด หรือควรจะผสมสารเคมีในอัตราส่วนเท่าไหร่เพื่อจะสามารถควบคุมวัชพืชได้ โดยที่ยังคุ้มค่ากับการลงทุน
      3.            ชนิดของวัชพืช เป็นใบแคบหรือใบกว้าง ใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่ และเป็นวัชพืชปีเดียวหรือวัชพืชข้ามปี ทั้งนี้เพราะสารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดย่อมส่งผลในการควบคุมชนิดวัชพืชที่แตกต่างกันไป
      4.            ชนิดของดิน เพราะสารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดอาจจะให้ผลในการควบคุมวัชพืชที่แตกต่างกันไปได้ในแต่ละชนิดของดิน จึงควรศึกษาจากฉลากแนบด้วย
      5.            ความชื้นของดินในขณะที่มีการฉีดพ่นควรจะเพียงพอ เพื่อให้สารเคมีกำจัดวัชพืชสามารถซึมลงดินได้ดี หรือวัชพืชสามารถรับเอาสารกำจัดวัชพืชเหล่านี้ไปได้ดี
      6.                        ขณะฉีดพ่นไม่ควรมีลมแรง หรือฝนตก
      7.                        อัตราของสารเคมีกำจัดวัชพืชต้องมีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่
      8.                        ต้องมีการฉีดพ่นให้ทั่วถึง
      9.                        น้ำสำหรับการฉีดพ่น ควรสะอาดและไม่มีสิ่งเจือปนหรือตะกอน
      10.                    ใช้เครื่องพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เหมาะสมกับขนาดของอ้อย และช่วงเวลาฉีดพ่น

      การที่จะเลือกใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงอ้อยนั้น สิ่งที่จะต้องมีความคำนึงถึงอยู่เสมอคือความปลอดภัยและได้ผลดีที่สุด

                                                                                                        
      ·  สารเคมีควบคุมวัชพืชแบบก่อนงอก
      -  อลาคลอร์ และเพนดิเมทาลิน  ทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่ใช้ควบคุมวัชพืชในวงศ์หญ้า ซึ่งจะสามารถคุมวัชพืชได้นาน 5 สัปดาห์หลังการฉีดพ่น การใช้เพนดิเมทาลินร่วมกับอิมาซาพิคจะทำให้สามารถควบคุมวัชพืชได้มากชนิดขึ้น ทั้งใบแคบและใบกว้างรวมทั้งแห้วหมู นาน 3-4 เดือนหลังการฉีดพ่น
      -  อาทราซีน เป็นสารที่มีการใช้กันมากที่สุดในไร่อ้อย ใช้เพื่อการควบคุมวัชพืชใบเลี้ยงคู่เป็นส่วนใหญ่และใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิด โดยปกติสามารถควบคุมวัชพืชได้ 1.5-2 เดือน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผักยางนั้นมีความต้านทานต่อสารนี้ ทั้งนี้หากไม่สามารถใช้ได้ทันทีหลังการปลูก อาจจะประยุกต์ใช้โดยการผสมอาทราซีนกับอามิทรินแบบหลังงอกจะสามารถควบคุมวัชพืชได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง
      -  มีตริบูซีน  เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับแอทราซีนและแอมีทริน ซึ่งอาจจะผสมร่วมกับ 2,4-ดี ใช้แบบหลังงอกในระยะแรก
      -  เฮกซาซิโนน  เป็นสารที่แนะนำให้ใช้ในอ้อยตอ เพราะอาจจะมีความเป็นพิษต่ออ้อยปลูกโดยเฉพาะเมื่อใช้ในดินทรายหรือมีฝนตกหนัก
      -   ไดยูรอน  ใช้แบบก่อนงอกในไร่อ้อยแต่มีอ้อยบางพันธุ์เช่น Q83 อ่อนแอต่อยานี้
      -   ออกซีฟลูร์เฟน  เป็นสารเคมีที่สามารถใช้เพื่อควบคุมวัชพืชได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง
      -   ซัลเฟนแทรสโซน  สามารถควบคุมวัชพืชได้หลายชนิด รวมทั้งแห้วหมู

      ·  สารเคมีควบคุมวัชพืชแบบหลังงอก
      -  โพรพานิลและแอสซูแลม  เป็นสารที่มีการจดทะเบียนให้ใช้ในไร่อ้อย เพื่อใช้ควบคุมวัชพืชในวงศ์หญ้าแบบหลังงอก อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ได้ผลดีมากขึ้นควรจะมีการฉีดพ่นก่อนที่วัชพืชจะมีการออกดอก
      -  พาราควอท  เป็นสารที่ใช้ฉีดพ่นไปโดยตรงที่ต้นวัชพืช โดยให้ต้นอ้อยได้รับสารน้อยที่สุดหรือไม่ได้รับเลย ปกติจะใช้หลังจากที่อ้อยอายุ 3-4 เดือน โดยอาจห่อนหรือหลังการพูนโคน สามารถควบคุมวัชพืชฤดูเดียว แต่อาจจะก่อให้เกิดใบอ้อยไหม้ได้
      -   2,4-ดี  ใช้ควบคุมวัชพืชวงศ์หญ้าเมื่ออ้อยมีอายุได้ 3-4 เดือน
      -   พิโคลแรม + 2,4-ดี   ใช้ควบคุมวัชพืชที่เป็นเถาเลื้อย เช่น ขี้กาแดง กระทกรก ตดหมูตดหมา

      สิ่งหนึ่งที่จะต้องนำมาคิดหากมีการเลือกที่จะควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีคือการที่มีการใช้สารเคมีชนิดเดิมทุกปี อาจจะทำให้วัชพืชเกิดการดื้อต่อสารเคมีนั้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ในปริมาณที่สูงขึ้นอันเป็นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย  ในการกำจัดวัชพืชนั้นอาจมีการผสมสารเข้าด้วยกัน การผสมสารอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ากับอีกอย่างนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เช่นฆ่าวัชพืชก่อนที่จะทำการใส่ปุ๋ยหรือหลังใส่ปุ๋ยแล้วยังไม่มีวัชพืชงอก หรือหลังใส่ปุ๋ยแล้วมีวัชพืชงอกอีก ซึ่งสามารถใช้ยาผสมเพื่อการประหยัดเงิน เช่น
      -  อ้อยงอกแล้วแตกใยไม่เกิด 3 ใบ ใช้พาราควอท + อาทราซีน หรือ พาราควอท+มีตริบูซีน  หรือ พาราควอท + ไดยูรอนฉีดพ่นในขณะที่ดินมีความชื้น ตามอัตราที่ฉลากแนะนำ จะไม่เป็นอันตรายกับอ้อย
      -  อ้อยงอกแตกใบเกิน 3 ใบ วัชพืชสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ใช้อาทราซีน + อามิทริน หรือ 2,4-ดี + มีตริบูซีน ฉีดพ่นขณะที่ดินมีความชื้น อัตรายาตามฉลากแนะนำ ไม่เป็นอันตรายกับอ้อย


      ตารางสรุปการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย

      สารกำจัดวัชพืช
      (ชื่อสามัญ)
      วัชพืช
      ที่ควบคุม
      อัตราใช้ (กรัม)
      สารออกฤทธิ์ต่อไร่
      วิธีการใช้
      atrazine
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      360-480
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      diuron
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      240-480
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      alachlor
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      240-360
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      metribuzin
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      320-480
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      pendimethalin
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      160-240
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      ametryn
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      360-480
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      oxyfuorfen
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      40-80
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      metalachlor
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      240-360
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      oxyfuorfen +diuron
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      (24-48) + (240-320)
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      metribuzin + 2,4-D
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      320+160
      ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      asulam
      ใบแคบ
      400
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      2,4-D + sodium salt
      ใบกว้าง
      160-200
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      asulam + diuron
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      320+320
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
      paraquat
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      120-160
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceพ่นระหว่างแถว ไม่ให้ละอองของสารเคมีสัมผัสกับต้นอ้อยและใบอ้อย
      paraquat + 2,4-D
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      160+160
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceพ่นระหว่างแถว ไม่ให้ละอองของสารเคมีสัมผัสกับต้นอ้อยและใบอ้อย
      ametryn + 2,4-D
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      240+240
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergence)
      paraquat + diuron
      ใบแคบ
      ใบกว้าง
      90+240
      ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceพ่นระหว่างแถว ไม่ให้ละอองของสารเคมีสัมผัสกับต้นอ้อยและใบอ้อย
      ที่มา พรชัย, 2540






         
      ภาพที่ 10  การฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องพ่นสารกำจัดวัชพืชพ่วงรถไถแบบก่อนงอกและหลังงอก
      (ที่มา ธวัช, 2543)

      ภาพที่ 11 เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชพ่วงท้ายรถไถจำเป็นต้องยกท้องให้สูงขึ้นกว่าปกติ เมื่อต้องการเข้าไปทำงานในแปลงอ้อยที่อ้อยอายุมากกว่า 4 เดือนหรือแปลงที่อ้อยสูง   (ที่มา  น้องส้มจุก, 2549)

      ภาพที่ 12  เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช พ่วงท้ายรถไถขนาดใหญ่สามารถฉีดพ่นได้ครั้งละ 4 ร่อง
      (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

      ภาพที่ 13 เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชพ่วงท้ายรถไถขนาดเล็ก
      สามารถเข้าไประหว่างแถวอ้อยและฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชได้ครั้งละ 1 ร่อง (ที่มา 
      น้องส้มจุก, 2549)


      วิธีการเขตกรรม

      ·  การปลูกพืชแซม
      การปลูกพืชแซมด้วยพืชที่มีอายุสั้นหลายชนิด เช่นถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวานและงาปลูกระหว่างแถวอ้อย ทั้งนี้จะต้องไม่ปลูกพืชแซมก่อนที่อ้อยจะมีอายุ 3 สัปดาห์หลังการงอกและพืชแซมไม่ควรจะมีอายุนานกว่า 4 เดือนตามอายุของอ้อยหลังงอก มิฉะนั้นอาจจะส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงได้ 
         การปลูกพืชแซมในไร่อ้อยนั้นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น วัชพืชก็น้อยลง นอกจากนี้อ้อยยังได้รับผลที่เหลืออยู่ในดินหลังจากการปลูกพืชแซม และเศษพืชแซมก็ตกค้างอยู่หลังการเก็บเกี่ยว แต่การปลูกพืชแซมอาจจะทำได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก เพราะต้องใช้แรงงานคนมากในการดูแลรักษา รวมทั้งจะต้องมีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเพิ่มขึ้นด้วย

      ·  การปลูกพืชคลุมดินและวัสดุคลุมดิน
      การปลูกพืชคลุมดินนั้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มความอุดสมบูรณ์ให้กับดินและป้องกันการพังทลายของหน้าดินแล้ว ยังมีผลในการช่วยลดการแข่งขันของวัชพืชได้  การใช้วัชพืชคลุมดินเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้เพื่อป้องกันการขึ้นแก่งแย่งของวัชพืช โดยอาศัยหลักเกณฑ์การบังแสง เพราะไม่มีแสงวัชพืชก็ไม่สามารถเจริญได้ วัสดุที่สามารถนำมาใช้คลุมดินนั้นประกอบด้วย ฟางข้าว เศษหญ้า ใบไม้ แกลบ กาบอ้อย ใบอ้อย กากอ้อย ตะกอนหม้อกรองจากโรงงานหีบอ้อย ซึ่งเหลี้ล้วนแล้วแต่สามารถหาได้ง่าย นอกจากควบคุมวัชพืชแล้ว ยังมีผลดีในแง่การปรับปรุงด้วย นอกจากนี้ในการปลูกพืชคลุมดินก็ไม่ต้องการการดูแลรักษามาหนัก ทั้งนี้สามารถดำเนินการในแปลงขนาดใหญ่ได้

      เอกสารอ้างอิง

      ธวัช ตินนังวัฒนะ. 2543. การทำไร่อ้อยยุคใหม่. ศูนย์เกษตรอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.

      น้องส้มจุก. 2549. (ติดต่อเป็นการส่วนตัว)

      ประเสริฐ ฉัตรวชิระวงษ์. 2547. อ้อย. หน้า 272-295. ใน. นพพร คล้ายพงษ์พันธุ์  เรวัต เลิศฤทัยโยธิน รังสฤษดิ์   กาวีต๊ะ และสนธิชัย จันทร์เปรม. กองบรรณาธิการ. พืชเศรษฐกิจ. ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.

      พรชัย เหลืองอาภาพงศ์. 2540. วัชพืชศาสตร์. ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่

      พูลประเสริฐ ปิยะอนันต์. 2548. การเลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย. ใน. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารงานอ้อยเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต. ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.

      รังสิต  สุวรรณเขตนิคม. 2548. การจัดการวัชพืชในไร่อ้อยแบบบูรณาการ. ใน. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารงานอ้อยเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต. ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.



      โดย ซุปเปอร์ไร่อ้อยนครสวรรค์ โทร 086-355-2228
      #จำหน่ายพันธ์ุอ้อยคุณภาพดีราคาถูก