วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

วัชพืชในไร่อ้อยและการบริหารจัดการ

วัชพืชในไร่อ้อยและการบริหารจัดการ

นายธวัช หะหมาน นักวิทยาศาสตร์ 4
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เขต 4
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

   วัชพืชเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญของการปลูกอ้อย และส่งผลให้ผลผลิตของอ้อยลดต่ำลงเป็นอันมากรวมถึงการที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการกำจัดวัชพืชไม่ทันตามเวลา โดยความเสียหายจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัชพืชและอายุอ้อยในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอ้อยปลูก สำหรับอ้อยตอนั้นปัญหาเรื่องวัชพืชนั้นน้อยลงเนื่องจากการมีใบอ้อยปกคลุมผิวดินอยู่ ทั้งนี้การที่จะปลูกอ้อยให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารเพื่อจัดการวัชพืชให้ได้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความสำเร็จของการบริหารจัดการวัชพืชนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกอ้อย ช่วงเวลาหรือฤดูกาลของการปลูกอ้อย และสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยด้วย  พบว่าควรจะมีการกำจัดวัชพืชตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กอยู่ เพราะยิ่งวัชพืชอายุมากขึ้นต้นทุนในการกำจัดก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยผลผลิตของอ้อยจะลดลง

การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 1-4 เดือน            ผลผลิต 16.2 ตันต่อไร่
การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 2-4 เดือน            ผลผลิต 12.1 ตันต่อไร่       -25.3%
การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน            ผลผลิต 9.5 ตันต่อไร่        -41.1%
การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 4 เดือน               ผลผลิต 5.7 ตันต่อไร่        -68.4%
การกำจัดวัชพืชเมื่ออ้อยอายุ 5 เดือน               ผลผลิต 2.5 ตันต่อไร่        -84..6%
ไม่กำจัดวัชพืช                                            ผลผลิต 1.9 ตันต่อไร่        -88.3%                                    
(ธวัช, 2543)

   อย่างหนึ่งที่สามารถเห็นได้ก็คือ หากปล่อยให้วัชพืชรบกวนต้นอ้อยในช่วงแรกหลังการปลูก หรือระยะที่อ้อยยังเล็กอยู่จะทำความเสียหายให้ได้เป็นอย่างมาก และอ้อยก็ตองการช่วงเวลาที่ปราศจากการรบกวนของวัชพืชอย่างน้อย 12 สัปดาห์หลังปลูก

วัชพืชที่พบได้ในไร่อ้อย

วัชพืชใบเลี้ยงคู่


ครอบจักรวาล                      (Abutilon graveolens)
หญ้าสาบแร้งสาบกา             (Ageratum conyzoides)
ฝักเป็ด                              (Alternanthera frutescens)
ผักโขม                             (Amaranthus spinosus)
ผักปราบ                            (Commelina diffusa)
ปอวัชพืช                           (Corchorus aestuans)
กะเม็ง                               (clupta alba)
ผักยาง                              (Euphorbia geniculatum)
น้ำนมราชสีห์                      (Euphorbia hirta)
กระต่ายจาม                       (Scoparia dulcis)
โทงเทง                             (Physalis minima)
ขี้กาแดง                            (Trichosanthes integrifolia)
ตดหมูตดหมา                     (Macfadyenia unguis-cati)
กระทกรก                          (Passifloa foetica)
ผักเบี้ยหิน                          (Trianthema portulacastrum)      
โคกกระสุน                        (Trubulus cisloide)



วัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว


หญ้ารังนก                         (Chloris barbata)
หญ้าปากควาย                    (Dactyloctenium aegyptium)
หญ้าตีนนก                        (Digitaria adscendens)
หญ้านกสีชมพู                    (Echinochloa colonum)
หญ้าตีนกา                         (Eleusine indica)
หญ้าตีนกาใหญ่                   (Eleusine spp.)
หญ้าดอกขาว                     (Leptochloa chinensis)
หญ้าขจรจบดอกเล็ก            (Pennisetum spp.)
หญ้าขจรจบดอกใหญ่           (Pennisetum spp.)
แห้วหมู                             (Cyperus rotundus)                           (ธวัช, 2543 และพรชัย, 2540)
                          




ภาพที่ 1 เปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยา (Morphology) ของวัชพืชใบเลี้ยงคู่กับวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
(ที่มา ประเสริฐ, 2546)

ภาพที่ 2 แสดงองค์ประกอบภายในของเมล็ดวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และรูปแบบการงอกของวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
(ที่มา ประเสริฐ, 2546)

ภาพที่ 3  แสดงรูปแบบการงอกของวัชพืชใบเลี้ยงคู่ (ที่มา พรชัย, 2540)



การบริหารจัดการวัชพืช

การบริหารจัดการวัชพืชตามช่วงเวลาการปลูกอ้อย

·  การปลูกอ้อยในเขตชลประทาน
   เนื่องจากการปลูกอ้อยในเขตชลประทานนั้นสามารถทำได้ทั้งปี ซึ่งจะมีการดำเนินการปลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะการยึดหลักที่ว่ายิ่งอ้อยมีอายุมากขึ้น อ้อยก็จะยิ่งมีการสุกแก่เต็มที่และสามารถให้ผลผลิตน้ำตาลที่สูง โดยปกติเกษตรกรจะนิยมปลูกในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการปลูกเป็นร่องและมีการให้น้ำในร่อง ส่งผลให้มีวัชพืชเกิดขึ้นภายในร่อง โดยไม่มีวัชพืชที่บริเวณสันร่อง เพราะวัชพืชจะขึ้นบริเวณที่มีความชื้นหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมถึงเท่านั้น ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องมีการใช้สารกำจัดวัชพืชก็ควรจะฉีดพ่นแค่ในส่วนของร่องก็เป็นการเพียงพอ ซึ่งการฉีดพ่นแบบนี้จะเรียกว่าการฉีดพ่นภายในร่อง (Band or Strip application) ซึ่งหากมีการใช้คุมวัชพืชแบบก่อนงอกก็จะสามารถลดพื้นที่การฉีดพ่นลงได้ 50-70% แล้วอาจจะมีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอกอีกครั้งหนึ่งเมื่ออ้อยอายุ 2-2.5 เดือน หรืออาจจะทำการพูนโคนใส่ปุ๋ยเมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือนแล้วไม่จำเป็นต้องมีการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชอีก  ทั้งนี้ปริมาณวัชพืชมากหรือน้อยนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ความถี่ของการให้น้ำ ถ้าให้น้ำมากครั้งอ้อยก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี เช่นเดียวกันกับวัชพืช แต่หากมีการให้น้ำน้อยครั้งวัชพืชก็จะงอกน้อยแต่อ้อยก็จะมีการเจริญเติบโตไม่ดีด้วย

·  การปลูกอ้อยในเขตน้ำฝน
   เมื่อมีการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน อ้อยที่เกษตรกรปลูกนั้นควรจะมีความลึกกว่าในระบบชลประทาน ส่วนในการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชนั้นก็อาจจะมีการใช้แบบหลังงอก แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรสามารถที่จะใช้สารกำจัดวัชพืชแบบยาคุมและยาฆ่ารวมกัน เนื่องจากวัชพืชอาจจะมีการงอกขึ้นมาบ้างแล้ว และก็สามารถยับยั้งเมล็ดของวัชพืชที่ยังไม่งอกขึ้นมาได้ในขณะเดียวกัน  ทั้งนี้พบว่าวัชพืชในแปลงอ้อยที่มีการปลูกในช่วงต้นฤดูฝนนั้นจะมีปริมาณวัชพืชหนาแน่นกว่าการปลูกอ้อยในหน้าแล้ง ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนหรือความถี่ของฝนที่ตกลงมาด้วย ปกติวัชพืชจะสามารถงอกขึ้นมาได้หลังจากที่ฝนตกประมาณ 1 สัปดาห์ ในขณะที่อ้อยสามารถงอกขึ้นมาได้หลังจากที่ได้รับฝนแล้ว 2 สัปดาห์ การใช้สารกำจัดวัชพืช แบบหลังงอกเมื่ออ้อยอายุ 2-3 เดือน เพราะการปลูกในฤดูฝนนั้นอาจจะไม่สะดวกที่จะเข้าไปพูนโคน การใช้สารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอกจึงมีความสำคัญ

·  การปลูกอ้อยข้ามแล้ง
   เกษตรกรจะเริ่มปลูกอ้อยหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยในฤดูก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม การเตรียมดินจึงต้องมีการไถให้ลึกประมาณ 50-60 เซนติเมตร เพราะจะต้องปลูกในระดับที่ลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตรและจะต้องมีการกลบให้ลึก เพื่อให้อ้อยสามารถได้รับความชื้นที่หลงเหลืออยู่ในดินสำหรับการงอกขึ้นมา ทั้งนี้ทำให้วัชพืชไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ เพราะวัชพืชปกติจะงอกจากผิวดินประมาณ 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น อาจจะมีการใช้สารกำจัดวัชพืชแบบคุม หรือใช้แบบคุมร่วมกับแบบฆ่าก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัชพืช ทั้งนี้อาจจะมีการพูนโคนหลังจากการใส่ปุ๋ย ทำให้การฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชแค่เพียงครั้งเดียวก็มีความเพียงพอ

การใช้แรงงานคนและสัตว์
   การใช้แรงงานคนเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด คือการใช้มือถอน การใช้จอบถากหรือพรวน การปฏิบัติด้วยวิธีการนี้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกน้อย ๆ  เงินทุนน้อย แต่ในพื้นที่ขนาดใหญ่อาจจะทำได้ช้า มักไม่มันเวลากับการเติบโตของอ้อย ส่วนการใช้แรงงานสัตว์นั้น เป็นการใช้วัวควายลากไถ เพื่อพรวนดินและกำจัดวัชพืช วิธีนี้สะดวกกว่าแรงคน และควรทำในขณะที่วัชพืชไม่โตจนเกินไป อย่างไรก็ตามการใช้แรงงานสัตว์จะมีความสะดวกฝนดินเนื้อหยาบหรือดินเนื้อทรายมากกว่าดินเหนียว ในทางปฏิบัติมักทำควบคู่ไปกับการใช้แรงงานคน โดยใช้จอบถากวัชพืชที่อยู่ใกล้บริเวณต้นอ้อย

การใช้เครื่องจักรกล
   เป็นการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่นรถไถเดินตาม จอบหมุน ตีนเป็ด  หรือคราดสปริงการไถพรวนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการปลูกอ้อย และการกำจัดวัชพืชหลังการปลูก การไถพรวนที่มีความเหมาะสมนั้นจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดี อย่างไรก็ตามการที่จะไถพรวนให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีนั้นก็จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการปลูกด้วย โดยทั่วไปการใช้เครื่องมือมักเริ่มต้นหลังจากปลูกอ้อยแล้ว 2-3 เดือน เกษตรกรมักจะทำการพรวนระหว่างแถวอ้อยเพื่อกำจัดวัชพืช และช่วยให้การถ่ายเทอากาศในดินดีขึ้น การปลูกอ้อยในพื้นที่ชลประทาน หากมีการไถพรวนแล้วมีการให้น้ำจะทำให้วัชพืชงอกขึ้นมาอีกได้  และหากว่ามีการปลูกอ้อยในช่วงต้นของฤดูฝนก็อาจจะไม่สามารถไถพรวนได้หากมีฝนติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่สามารถนำเครื่องจักรกลไปปฏิบัติงานได้  แต่หากว่าเป็นการปลูกอ้อยแบบข้ามแล้งก็จะสามารถไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชได้  หลังจากพรวนดินครั้งแรกไปแล้ว จำเป็นต้องมีการพรวนดินครั้งที่สอง เมื่ออ้อยอายุได้ 6 เดือน การพรวนดินในขณะนี้จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอ้อยมีความสูงมากขึ้น มีโอกาสที่ยอดอ้อยจะหักในขณะที่ทำงานท้องรถแทรกเตอร์ที่เข้าทำงานจึงต้องมีความสูงขึ้นมากกว่า 120 เซนติเมตร

1.            เครื่องทำรุ่นคัทอะเว (Cutaway) คราดสปริง (Spring tine cultivator) จอบหมุน (Rotary cultivator) และพรวนจาน (Disc harrow) ทำหน้าที่พรวนลูกหญ้า กำจัดวัชพืชและพรวนหน้าดินให้ร่วนซุยเพื่อให้ดินเก็บความชื้นได้ดีขึ้น ในกรณีที่ปลูกอ้อยแล้วฝนตกทับ การใช้คัทอะเวจะช่วยเปิดร่องให้กว้างขึ้น พรวนหน้าดินให้แตก อ้อยจะงอกตามปกติ

ภาพที่ 3 เครื่องทำรุ่นคัทอะเว   (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

ภาพที่ 4   คราดสปริง   (ที่มา ประเสริฐ, 2546)

ภาพที่ 5 จานพรวน (ที่มา : พูลประเสริฐ, 2548)

ภาพที่ 6 จานพรวน (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

ภาพที่ 7 จอบหมุน (rotary cultivatiorเชื่อมต่อกับรถไถเดินตามเพื่อกำจัดวัชพืช (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)


2.                        เครื่องมือพรวนดินใส่ปุ๋ยพร้อมการกำจัดวัชพืช เป็นการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หรือบำรุงตอ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ใช้ได้ทั้งในอ้อยปลูกและบำรุงตอ

ภาพที่ 8 เครื่องมือพรวนดิน ใส่ปุ๋ย พร้อมกับการกำจัดวัชพืช   (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

ภาพที่ 9 ผานพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช พร้อมใส่ปุ๋ยเชื่อมต่อรถไถเดินตามขนาดเล็ก (ที่มา น้องส้มจุก, 2549)


การใช้สารกำจัดวัชพืช

   ในการเลือกใช้สารเคมีเพื่อการกำจัดวัชพืชนั้นจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งประกอบด้วย
1.            พันธุ์ ช่วงอายุและความสูงของต้นอ้อย ซึ่งจะต้องลงลึกไปในรายละเอียดว่า สารกำจัดวัชพืชชนิดไหนที่พันธุ์อ้อยสามารถทนได้ และควรใช้สารเคมีชนิดไหนในช่วงเวลาไหน เพื่อจะได้ไม่เป็นพิษต่อต้นอ้อย
2.            อายุของวัชพืชกับสัดส่วนของยาและความคุ้มทุน ในบางครั้งจำเป็นต้องพิจารณาว่าช่วงอายุไหนของวัชพืชมีความจำเป็นต้องกำจัด หรือควรจะผสมสารเคมีในอัตราส่วนเท่าไหร่เพื่อจะสามารถควบคุมวัชพืชได้ โดยที่ยังคุ้มค่ากับการลงทุน
3.            ชนิดของวัชพืช เป็นใบแคบหรือใบกว้าง ใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่ และเป็นวัชพืชปีเดียวหรือวัชพืชข้ามปี ทั้งนี้เพราะสารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดย่อมส่งผลในการควบคุมชนิดวัชพืชที่แตกต่างกันไป
4.            ชนิดของดิน เพราะสารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดอาจจะให้ผลในการควบคุมวัชพืชที่แตกต่างกันไปได้ในแต่ละชนิดของดิน จึงควรศึกษาจากฉลากแนบด้วย
5.            ความชื้นของดินในขณะที่มีการฉีดพ่นควรจะเพียงพอ เพื่อให้สารเคมีกำจัดวัชพืชสามารถซึมลงดินได้ดี หรือวัชพืชสามารถรับเอาสารกำจัดวัชพืชเหล่านี้ไปได้ดี
6.                        ขณะฉีดพ่นไม่ควรมีลมแรง หรือฝนตก
7.                        อัตราของสารเคมีกำจัดวัชพืชต้องมีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่
8.                        ต้องมีการฉีดพ่นให้ทั่วถึง
9.                        น้ำสำหรับการฉีดพ่น ควรสะอาดและไม่มีสิ่งเจือปนหรือตะกอน
10.                    ใช้เครื่องพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เหมาะสมกับขนาดของอ้อย และช่วงเวลาฉีดพ่น

การที่จะเลือกใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงอ้อยนั้น สิ่งที่จะต้องมีความคำนึงถึงอยู่เสมอคือความปลอดภัยและได้ผลดีที่สุด

                                                                                                  
·  สารเคมีควบคุมวัชพืชแบบก่อนงอก
-  อลาคลอร์ และเพนดิเมทาลิน  ทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่ใช้ควบคุมวัชพืชในวงศ์หญ้า ซึ่งจะสามารถคุมวัชพืชได้นาน 5 สัปดาห์หลังการฉีดพ่น การใช้เพนดิเมทาลินร่วมกับอิมาซาพิคจะทำให้สามารถควบคุมวัชพืชได้มากชนิดขึ้น ทั้งใบแคบและใบกว้างรวมทั้งแห้วหมู นาน 3-4 เดือนหลังการฉีดพ่น
-  อาทราซีน เป็นสารที่มีการใช้กันมากที่สุดในไร่อ้อย ใช้เพื่อการควบคุมวัชพืชใบเลี้ยงคู่เป็นส่วนใหญ่และใบเลี้ยงเดี่ยวบางชนิด โดยปกติสามารถควบคุมวัชพืชได้ 1.5-2 เดือน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผักยางนั้นมีความต้านทานต่อสารนี้ ทั้งนี้หากไม่สามารถใช้ได้ทันทีหลังการปลูก อาจจะประยุกต์ใช้โดยการผสมอาทราซีนกับอามิทรินแบบหลังงอกจะสามารถควบคุมวัชพืชได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง
-  มีตริบูซีน  เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับแอทราซีนและแอมีทริน ซึ่งอาจจะผสมร่วมกับ 2,4-ดี ใช้แบบหลังงอกในระยะแรก
-  เฮกซาซิโนน  เป็นสารที่แนะนำให้ใช้ในอ้อยตอ เพราะอาจจะมีความเป็นพิษต่ออ้อยปลูกโดยเฉพาะเมื่อใช้ในดินทรายหรือมีฝนตกหนัก
-   ไดยูรอน  ใช้แบบก่อนงอกในไร่อ้อยแต่มีอ้อยบางพันธุ์เช่น Q83 อ่อนแอต่อยานี้
-   ออกซีฟลูร์เฟน  เป็นสารเคมีที่สามารถใช้เพื่อควบคุมวัชพืชได้ทั้งใบแคบและใบกว้าง
-   ซัลเฟนแทรสโซน  สามารถควบคุมวัชพืชได้หลายชนิด รวมทั้งแห้วหมู

·  สารเคมีควบคุมวัชพืชแบบหลังงอก
-  โพรพานิลและแอสซูแลม  เป็นสารที่มีการจดทะเบียนให้ใช้ในไร่อ้อย เพื่อใช้ควบคุมวัชพืชในวงศ์หญ้าแบบหลังงอก อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ได้ผลดีมากขึ้นควรจะมีการฉีดพ่นก่อนที่วัชพืชจะมีการออกดอก
-  พาราควอท  เป็นสารที่ใช้ฉีดพ่นไปโดยตรงที่ต้นวัชพืช โดยให้ต้นอ้อยได้รับสารน้อยที่สุดหรือไม่ได้รับเลย ปกติจะใช้หลังจากที่อ้อยอายุ 3-4 เดือน โดยอาจห่อนหรือหลังการพูนโคน สามารถควบคุมวัชพืชฤดูเดียว แต่อาจจะก่อให้เกิดใบอ้อยไหม้ได้
-   2,4-ดี  ใช้ควบคุมวัชพืชวงศ์หญ้าเมื่ออ้อยมีอายุได้ 3-4 เดือน
-   พิโคลแรม + 2,4-ดี   ใช้ควบคุมวัชพืชที่เป็นเถาเลื้อย เช่น ขี้กาแดง กระทกรก ตดหมูตดหมา

สิ่งหนึ่งที่จะต้องนำมาคิดหากมีการเลือกที่จะควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีคือการที่มีการใช้สารเคมีชนิดเดิมทุกปี อาจจะทำให้วัชพืชเกิดการดื้อต่อสารเคมีนั้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ในปริมาณที่สูงขึ้นอันเป็นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย  ในการกำจัดวัชพืชนั้นอาจมีการผสมสารเข้าด้วยกัน การผสมสารอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ากับอีกอย่างนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เช่นฆ่าวัชพืชก่อนที่จะทำการใส่ปุ๋ยหรือหลังใส่ปุ๋ยแล้วยังไม่มีวัชพืชงอก หรือหลังใส่ปุ๋ยแล้วมีวัชพืชงอกอีก ซึ่งสามารถใช้ยาผสมเพื่อการประหยัดเงิน เช่น
-  อ้อยงอกแล้วแตกใยไม่เกิด 3 ใบ ใช้พาราควอท + อาทราซีน หรือ พาราควอท+มีตริบูซีน  หรือ พาราควอท + ไดยูรอนฉีดพ่นในขณะที่ดินมีความชื้น ตามอัตราที่ฉลากแนะนำ จะไม่เป็นอันตรายกับอ้อย
-  อ้อยงอกแตกใบเกิน 3 ใบ วัชพืชสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ใช้อาทราซีน + อามิทริน หรือ 2,4-ดี + มีตริบูซีน ฉีดพ่นขณะที่ดินมีความชื้น อัตรายาตามฉลากแนะนำ ไม่เป็นอันตรายกับอ้อย


ตารางสรุปการใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย

สารกำจัดวัชพืช
(ชื่อสามัญ)
วัชพืช
ที่ควบคุม
อัตราใช้ (กรัม)
สารออกฤทธิ์ต่อไร่
วิธีการใช้
atrazine
ใบแคบ
ใบกว้าง
360-480
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
diuron
ใบแคบ
ใบกว้าง
240-480
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
alachlor
ใบแคบ
ใบกว้าง
240-360
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
metribuzin
ใบแคบ
ใบกว้าง
320-480
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
pendimethalin
ใบแคบ
ใบกว้าง
160-240
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
ametryn
ใบแคบ
ใบกว้าง
360-480
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
oxyfuorfen
ใบแคบ
ใบกว้าง
40-80
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
metalachlor
ใบแคบ
ใบกว้าง
240-360
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
oxyfuorfen +diuron
ใบแคบ
ใบกว้าง
(24-48) + (240-320)
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
metribuzin + 2,4-D
ใบแคบ
ใบกว้าง
320+160
ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก (preemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
asulam
ใบแคบ
400
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
2,4-D + sodium salt
ใบกว้าง
160-200
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
asulam + diuron
ใบแคบ
ใบกว้าง
320+320
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceขณะพ่นสารเคมี ดินควรมีความชื้นพอเหมาะ
paraquat
ใบแคบ
ใบกว้าง
120-160
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceพ่นระหว่างแถว ไม่ให้ละอองของสารเคมีสัมผัสกับต้นอ้อยและใบอ้อย
paraquat + 2,4-D
ใบแคบ
ใบกว้าง
160+160
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceพ่นระหว่างแถว ไม่ให้ละอองของสารเคมีสัมผัสกับต้นอ้อยและใบอ้อย
ametryn + 2,4-D
ใบแคบ
ใบกว้าง
240+240
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergence)
paraquat + diuron
ใบแคบ
ใบกว้าง
90+240
ใช้แบบหลังวัชพืชงอก (postemergenceพ่นระหว่างแถว ไม่ให้ละอองของสารเคมีสัมผัสกับต้นอ้อยและใบอ้อย
ที่มา พรชัย, 2540






   
ภาพที่ 10  การฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องพ่นสารกำจัดวัชพืชพ่วงรถไถแบบก่อนงอกและหลังงอก
(ที่มา ธวัช, 2543)

ภาพที่ 11 เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชพ่วงท้ายรถไถจำเป็นต้องยกท้องให้สูงขึ้นกว่าปกติ เมื่อต้องการเข้าไปทำงานในแปลงอ้อยที่อ้อยอายุมากกว่า 4 เดือนหรือแปลงที่อ้อยสูง   (ที่มา  น้องส้มจุก, 2549)

ภาพที่ 12  เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช พ่วงท้ายรถไถขนาดใหญ่สามารถฉีดพ่นได้ครั้งละ 4 ร่อง
(ที่มา น้องส้มจุก, 2549)

ภาพที่ 13 เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชพ่วงท้ายรถไถขนาดเล็ก
สามารถเข้าไประหว่างแถวอ้อยและฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชได้ครั้งละ 1 ร่อง (ที่มา 
น้องส้มจุก, 2549)


วิธีการเขตกรรม

·  การปลูกพืชแซม
การปลูกพืชแซมด้วยพืชที่มีอายุสั้นหลายชนิด เช่นถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวานและงาปลูกระหว่างแถวอ้อย ทั้งนี้จะต้องไม่ปลูกพืชแซมก่อนที่อ้อยจะมีอายุ 3 สัปดาห์หลังการงอกและพืชแซมไม่ควรจะมีอายุนานกว่า 4 เดือนตามอายุของอ้อยหลังงอก มิฉะนั้นอาจจะส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงได้ 
   การปลูกพืชแซมในไร่อ้อยนั้นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น วัชพืชก็น้อยลง นอกจากนี้อ้อยยังได้รับผลที่เหลืออยู่ในดินหลังจากการปลูกพืชแซม และเศษพืชแซมก็ตกค้างอยู่หลังการเก็บเกี่ยว แต่การปลูกพืชแซมอาจจะทำได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก เพราะต้องใช้แรงงานคนมากในการดูแลรักษา รวมทั้งจะต้องมีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเพิ่มขึ้นด้วย

·  การปลูกพืชคลุมดินและวัสดุคลุมดิน
การปลูกพืชคลุมดินนั้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มความอุดสมบูรณ์ให้กับดินและป้องกันการพังทลายของหน้าดินแล้ว ยังมีผลในการช่วยลดการแข่งขันของวัชพืชได้  การใช้วัชพืชคลุมดินเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้เพื่อป้องกันการขึ้นแก่งแย่งของวัชพืช โดยอาศัยหลักเกณฑ์การบังแสง เพราะไม่มีแสงวัชพืชก็ไม่สามารถเจริญได้ วัสดุที่สามารถนำมาใช้คลุมดินนั้นประกอบด้วย ฟางข้าว เศษหญ้า ใบไม้ แกลบ กาบอ้อย ใบอ้อย กากอ้อย ตะกอนหม้อกรองจากโรงงานหีบอ้อย ซึ่งเหลี้ล้วนแล้วแต่สามารถหาได้ง่าย นอกจากควบคุมวัชพืชแล้ว ยังมีผลดีในแง่การปรับปรุงด้วย นอกจากนี้ในการปลูกพืชคลุมดินก็ไม่ต้องการการดูแลรักษามาหนัก ทั้งนี้สามารถดำเนินการในแปลงขนาดใหญ่ได้

เอกสารอ้างอิง

ธวัช ตินนังวัฒนะ. 2543. การทำไร่อ้อยยุคใหม่. ศูนย์เกษตรอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.

น้องส้มจุก. 2549. (ติดต่อเป็นการส่วนตัว)

ประเสริฐ ฉัตรวชิระวงษ์. 2547. อ้อย. หน้า 272-295. ใน. นพพร คล้ายพงษ์พันธุ์  เรวัต เลิศฤทัยโยธิน รังสฤษดิ์   กาวีต๊ะ และสนธิชัย จันทร์เปรม. กองบรรณาธิการ. พืชเศรษฐกิจ. ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.

พรชัย เหลืองอาภาพงศ์. 2540. วัชพืชศาสตร์. ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่

พูลประเสริฐ ปิยะอนันต์. 2548. การเลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย. ใน. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารงานอ้อยเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต. ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.

รังสิต  สุวรรณเขตนิคม. 2548. การจัดการวัชพืชในไร่อ้อยแบบบูรณาการ. ใน. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารงานอ้อยเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต. ศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. นครปฐม.



โดย ซุปเปอร์ไร่อ้อยนครสวรรค์ โทร 086-355-2228
#จำหน่ายพันธ์ุอ้อยคุณภาพดีราคาถูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น